วัคซีน covid-19 ชนิดไหนที่ฉีดได้ในไทยและผลข้างเคียงเป็นยังไง

วัคซีน covid-19 ชนิดไหนที่ฉีดได้ในไทยและผลข้างเคียงเป็นยังไง

ไขข้อข้องใจ วัคซีน covid-19

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับแอพ “หมอพร้อม” ที่เปิดให้คนไทยที่จองฉัดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักในการฉีด โดยข้อมูลการศึกษาพบว่าป้องกันการป่วยได้ถึง 76% เพียงเข็มเดียว และยังลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ถึง 80%

โดย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า แม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเทียบกันแล้วผลข้างเคียงน้อยมาก วัคซีนจะลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียเสียชีวิต ไม่ว่าจะวัคซีนแอสตราฯ หรือซิโนแวค ที่สำคัญยังลดการแพร่โรคได้ด้วย โดยเฉพาะแอสตราฯ พบว่าสามารถลดการแพร่โรคได้ถึง 50% จึงเป็นประโยชน์มากในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังรับวัคซีนแอสตราฯไม่ได้ หากฉีดในปู่ย่า พ่อแม่ ก็จะช่วยลดการแพร่โรคได้

ตามข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขณะนี้มี วัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 3 ตัวด้วยกัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมถึงอีก 4 ตัว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสามารถสรุปข้อมูลได้ ดังนี้

ผ่าน อย. ไทยเรียบร้อยแล้ว
1. แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จาก สหราชอาณาจักร
นำเข้าโดย : บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
ประสิทธิภาพ : 76%
จำนวนโดส : ฉีด 2 โดส ห่างกัน 8-12 สัปดาห์
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ บางกรณีมีการปวดและระคายเคืองบริเวณที่ฉีด

2. ซิโนแวค (Sinovac) จาก จีน
นำเข้าโดย : องค์การเภสัชกรรม (อภ.)
ประสิทธิภาพ : 50.38%
จำนวนโดส : ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : มีไข้เล็กน้อย ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการที่จะคงอยู่ชั่วคราว

3. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จาก สหรัฐอเมริกา
นำเข้าโดย : บริษัทแจนเซ่น-ซีแลก จำกัด
ประสิทธิภาพ : ประสิทธิภาพโดยรวม 66% สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 85%
จำนวนโดส : 1 โดส
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : ปวด บวม แดง ระคายเคือง บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้

ยังไม่ผ่าน อย. ไทย แต่อยู่ระหว่างดำเนินการ (13 พฤษภาคม 2564)
1. โมเดอร์นา (Moderna) จาก สหรัฐอเมริกา
นำเข้าโดย : บริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย.
ประสิทธิภาพ : ประสิทธิภาพโดยรวม 94.1% สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100%
จำนวนโดส : ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ไข้ โดยเป็นผลข้างเคียงทั่วไป กินเวลาประมาณ 2-3 วัน

2. ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) จาก อินเดีย
นำเข้าโดย : บริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อ อย.
ประสิทธิภาพ : 80.6% สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ 100%
จำนวนโดส : ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : ปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่น

3. สปุตนิก วี (Sputnik V) จาก รัสเซีย
นำเข้าโดย : บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่องกับทาง อย.
ประสิทธิภาพ : 91.6%
จำนวนโดส : 2 โดส
ช่วงอายุ : 18 ปีขึ้นไป
ผลข้างเคียง : มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไป

4. ไฟเซอร์ (Pfizer) จาก สหรัฐอเมริกา
วัคซีน BNT162b2 ของไฟเซอร์ อยู่ระหว่างเตรียมเอกสาร เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. หลังการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลไทยสำเร็จ
ประสิทธิภาพ : ประสิทธิภาพโดยรวม 95% สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100%
จำนวนโดส : ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
ช่วงอายุ : 16 ปีขึ้นไป (อย. สหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติการฉีดในช่วงอายุ 12 - 15 ปี)
ผลข้างเคียง : ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไข้ขึ้น หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ คลื่นไส้ ท้องร่วง ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไปจากการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในเวลาไม่เกิน 2-3 วัน

ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบจำนวนโดสแล้ว แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ยืนยันว่ายังเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ดังต่อไปนี้
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคมะเร็ง
- เบาหวาน
- โรคอ้วน

ก็ยังคงต้องระมัดระวังไม่ให้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเปลี่ยนกิจวัตรเป็น new normal ด้วยค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้