4 ข้อต้องคำนึงถึงในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

4 ข้อต้องคำนึงถึงในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

การดูแลผู้ป่วยติดเตียง

อาการ “นอนติดเตียง” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จนต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางรายอาจจะพอขยับร่างกายบางส่วนได้บ้างเคลื่อนไหวได้ หรือบางรายอาจไม่รู้สึกตัวเลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีอาการนอนติดเตียง มักเกิดจากโรค อุบัติเหตุ รวมถึงจากการผ่าตัดใหญ่ สิ่งที่ตามมาจากภาวะการนอนติดเตียง คือผลข้างเคียงที่นำพาไปสู่การเสียชีวิต เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ การขาดอาหารอย่างรุนแรง เป็นต้น
ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเป้าหมายการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงอย่างชัดเจน วัดผลได้ และเฝ้าระวังดังต่อไปนี้

1. แผลกดทับ
มักเกิดกับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวไม่ได้ นอนติดเตียงเป็นเวลานานๆ มักพบบริเวณปุ่มกระดูก เช่น สะโพก ต้นขา ส้นเท้า และตาตุ่ม บริเวณเหล่านี้จะขาดเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์บางตัวตายจนเป็นแผลไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับท่าทางการนอนของผู้ป่วย
ในระยะแรกอาจเกิดอาการลอกแค่ที่ผิว แต่พอนานวันเข้าก็อาจจะลอกไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรืออาจจะถึงชั้นกระดูก และเมื่อร่างกายปราศจากผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมเเล้ว โอกาสเกิดการติดเชื้อจึงมีมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
  การป้องกัน
• พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง และจัดท่าผู้ป่วย
• ป้องกันการเสียดสี เช่น ใช้ผ้ายกตัว ไม่ควรใช้วิธีลาก
• ดูแลผิวหนัง ทำความสะอาดไม่ให้เปียกชื้น โดยเฉพาะหลังปัสสาวะและอุจจาระ
• ทำครีมหรือวาสลีน เพื่อลดการแห้งแตกของผิวหนัง
• กระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวเท่าที่ทำได้
  การดูแล
• หลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณที่มีแผล
• แผลที่มีความรุนแรงมาก มีการติดเชื้อ บวมแดง มีหนอง หรือเนื้อตายควรส่งพบแพทย์เพื่อประเมินและรักษา

2. ภาวะกลืนลำบาก
ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงอามีปัญหากลืนลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน ฯลฯ
ปัญหาการกลืนลำบากมักจะเกิดการสำลักหรือไอขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้อาหารลงไปในหลอดลม มีโอกาสทำให้ปอดติดเชื้อหรือเป็นปอดบวมได้ และที่แย่ไปกว่านั้น คือเศษอาหารชิ้นใหญ่อาจเข้าไปอุดหลอดลมได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา จับผู้ป่วยลุก นั่งบนเตียง โดยใช้หมอนช่วยดันหลังให้ทรงตัวขณะทานอาหาร
นอกจากนี้ ควรปรับอาหารให้เหมาะสมด้วย การปรับอาหาร (Dietary modification) อาจเริ่มจากการให้อาหารข้น แต่ในปริมาณน้อยก่อน เช่น โจ๊กปั่น เพื่อดูว่าผู้ป่วยที่นอนติดเตียงสามารถกลืนได้หรือไม่ ค่อยๆ ป้อนอาหารและสังเกตอาการโดยตลอด ควรก้มคอกลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนหน้า และหยุดป้อนทันทีหากมีอาการสำลัก

3. ความสะอาด
การชำระล้างร่างกาย และการขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลต้องใส่ใจอยู่เสมอโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ เช่น ผู้ที่มีสำยสวนปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะผิดปกติ มีโรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต และช่วยเหลือตนเองได้น้อย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ผู้ดูแลควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือด เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
การดูแลสุขภาพช่องปาก (oral hygiene) มีส่วนสําคัญสําหรับการรักษาภาวะอาการกลืนลําบากอีกด้วย เพราะจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสําลัก ทําได้โดยใช้น้ำยาบ้วนปาก สำหรับผู้ที่บ้วนปากไม่ได้ ควรเช็ดทําความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ผู้ดูแลต้องเอาอาหารที่ค้างภายในช่องปากออกให้หมด รวมถึงเฝ้าระวังการเกิดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น
นอกจากนี้ ความสะอาดและสภาพแวดล้อมของห้องนอนก็ต้องดูแลอย่างดีด้วย ควรจัดให้เหมาะสมกับการใช้งาน สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทำความสะอาดให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ

4. ภาวะสุขภาพจิต
ปัญหาด้านสภาพจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกัน คือความเบื่อหน่าย และความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลาย และลดความเศร้าลง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้

4 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในเบื้องต้น นอกจากนี้ผู้ดูแลควรจะต้องมีการทำกายภาพบำบัด มีการจัดท่า การออกกำลังกาย ฝึกการย้ายตนเองอย่างปลอดภัย และการฝึกใช้รถเข็นในการเข้าห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งผู้ดูแลที่มีทักษะและประสบการณ์จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพราะต้องทุ่มเท ใส่ใจ และเข้าใจอาการป่วยนี้ด้วย
 
อ้างอิง > Family Doctor

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้