รู้จัก F.A.S.T. สัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

รู้จัก F.A.S.T. สัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

รู้จัก F.A.S.T. สัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้มีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองอยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack: TIA)

มักมีอาการไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ จึงควรรีบไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาลทันที

2. ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน” หรือ “ภาวะสมองขาดเลือด” (Ischemic  Stroke) 

พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากผนังหลอดเลือดชั้นในมีการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ จนมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น  นูน แข็ง หนา จนหลอดเลือดค่อยๆ ตีบแคบลง การลำเลียงเลือดมีประสิทธิภาพลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจหรือผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง

3. ภาวะหลอดเลือดสมองแตก” หรือ “ภาวะเลือดออกในสมอง” (Hemorrhagic Stroke) 

มักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะเเละโป่งพอง ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมองจนเนื้อสมองตาย และสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การได้รับสารพิษ การทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การใช้สารเสพติด เป็นต้น

F.A.S.T. STROKE
วิธีในการสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ โดยให้สังเกตอาการ ดังนี้
F - Face : ใบหน้า
อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว น้ำลายไหลออกจากมุมปากข้างที่ตก
A - Arm : แขน
อาการอ่อนแรงของแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
S - Speak : การพูด
การพูดลำบาก พูดติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก

T - Time : เวลา
รู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ คือรู้ว่าเริ่มมีอาการเป็นเวลาเท่าไหร่นับจากที่มีอาการผิดปกติ หรือนับจากเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการปกติเป็นครั้งสุดท้าย และควรรีบมาโรงพยาบาลให้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง เนื่องจากในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นตัวจากความพิการได้ หรือที่เรียกว่า 270 นาทีชีวิตนั่นเอง

 

 

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลังจากทำการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยกว่า 2 ใน 3 จะเกิดอาการบกพร่องพิการอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวไปตลอดชีวิต อาการบกพร่องพิการเหล่านี้ บางอย่างอาจฟื้นฟูได้
การบำบัดรักษาอาการบกพร่องพิการจากการเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์นี้เรียกว่า "เวชศาสตร์ฟื้นฟู” ซึ่งรวมถึงการฝึกฝนเพื่อบำบัดรักษาอาการบกพร่องอื่นๆ เช่น การพูด การกลืนกินอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรตามปกติได้ เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
1. ระยะเฉียบพลัน

คือ ระยะ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้จะเริ่มตั้งแต่ที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียงภายหลังจากที่ล้มป่วย เพื่อจะป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อต่อ และให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดฟื้นฟูในช่วงต่อไป

2. ระยะฟื้นตัว

คือ ระยะ 3-6 เดือนหลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ถือว่าเป็น Golden period for stroke คือ ช่วงเวลาทองของการรักษาและการฟื้นฟูของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หากได้รับการรักษาในช่วงเวลานี้จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ลดการเกิดความพิการ ลดอัตรการเสียชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ

อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานานๆได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง โดยจะทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้มตามแผนการฟื้นฟูที่แพทย์กำหนดไว้ให้กับผู้ป่วยแต่ละราย


3. ระยะทรงตัว

โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรก แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องพิการนั้นจะติดตัวไปตลอดชีวิต ระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญเสียสมรรถนะที่ฟื้นฟูมาได้แล้วนั้นไปอีก เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่บ้าน จึงยังต้องทำการบำบัดฟื้นฟูที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมรรถภาพนั้นๆ ให้คงอยู่ตลอดไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้