โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย เฮือนฮ้องขวัญจัดให้ถูกหลักถูกใจ

โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย เฮือนฮ้องขวัญจัดให้ถูกหลักถูกใจ

โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย


ที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วย และผู้สูงอายุ เฮือนฮ้องขวัญ มีผู้ป่วยและผู้สูงอายุมาพักฟื้นฟูร่างกายอยู่หลายท่าน แต่ละท่านมีสุขภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ข้อจำกัดในการทานอาหารก็ต่างกัน เช่น งดเค็ม งดมัน แพ้อาหารทะเล อาหารปั่นเหลว เป็นต้น และความต้องการสารอาหารเพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมและบำรุงร่างกายก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงวางตารางโภชนาการในแต่ละมื้อให้ทุกท่านเป็นรายบุคคล 

เพราะเมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของระบบร่างกายต่างๆ ก็ลดลง มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านโภชนาการมากขึ้น ดังนั้นผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสารอาหารและโภชนาการ และจัดเมนูอาหารที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุโดยยึดตามคำแนะนำธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

- ใน 1 มื้อควรมีผักและผลไม้รวมแล้วได้ปริมาณครึ่งหนึ่งของจานที่บริโภคต่อวัน
- ข้าวหรือแป้ง 1/4 จานที่บริโภค
- เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง รวมกันได้ปริมาณ 1/4 จานที่บริโภค
- ควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว และดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว

ขณะเดียวกันผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อรักษาระดับน้ำหนักตัวให้คงที่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ข้อควรคำนึงที่เฮือนฮ้องขวัญใส่ใจอย่างมากในการจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ คือ หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ต้องจัดอาหารเพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพ เพราะเงื่อนไขและสภาวะของโรคต่างๆ ของแต่ละคนแตกต่างกัน

ลักษณะอาหารสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารให้พลังงานพอเหมาะ แต่มีสารอาหารสูง ลักษณะอาหาร เคี้ยวกลืนได้ง่าย ย่อยได้ง่าย อ่อนนุ่ม รสชาติไม่รสจัดมาก อาจใช้เครื่องเทศ สมุนไพร ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติ นอกจากนี้ต้องมีสุขอนามัยที่ดี อาหารสะอาด การเตรียมอาหารถูกสุขลักษณะ สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว การจัดอาหารต้องสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์

ข้อแนะนำในการเลือกวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหาร
- ข้าวแป้ง : เลือกข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 50% ของปริมาณข้าวแป้งทั้งวัน
- ผลไม้ : เลือกผลไม้ให้หลากหลาย หากเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสที่แข็งต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
- ผัก : เลือกผักหลากหลายสี ผักสุกอาจกินได้ง่ายกว่าผักดิบ หากเป็นผักดิบต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เคี้ยวง่ายขึ้น
- เนื้อสัตว์ : เลือกเนื้อสัตว์ที่มีความอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่ายและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หรืออาจสลับกับเต้าหู้ ไข่ หากเป็นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียวมากขึ้น เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือใช้วิธีบด /สับ
- ถั่วเมล็ดแห้ง : เลือกถั่วหลากหลายสี ต้มถั่ว โดยใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ ให้ถั่วมีลักษณะที่อ่อนนิ่ม เคี้ยวกลืนง่าย
- นม : เลือกนมพร่องมันเนย/นมขาดมันเนย หากมีอาการท้องเสีย อาจรับประทานเป็นโยเกิร์ต

กรณีที่แพทย์พิจารณาให้อาหารทางการแพทย์แก่ผู้สูงอายุ บางสูตรอาจมีการปรับสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละสภาวะของโรค ก่อนที่จะเริ่มใช้อาหารทางการแพทย์ เราได้มีการปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อกำหนดปริมาณการใช้อาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของร่างกายของแต่ละราย

กล่าวได้ว่า "อาหาร" เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพที่ดี และอายุที่ยืนยาวของผู้สูงวัย การได้รับสารอาหารที่ดี เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็เหมือนกับได้รับยาบำรุงให้อวัยวะทุกส่วน เพื่อให้พร้อมต่อการฟื้นฟูร่างกายด้วยวิธีอื่นอีกต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้